0

การผลิตน้ำส้มควันไม้สมุนไพร

Posted by Gang of 4wd on 17:52 in
น้ำส้มควันไม้(1)ในขบวนการผลิตหากมีการเพิ่มสมุนไพรเช่นตระไคร้หอมเข้าไป
น้ำส้มควันไม้(2)จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการนำมาใช้กำจัดแมลงได้ดียิ่งขึ้น


น้ำ ส้มควันไม้มีสารประกอบเป็นกรดอะซิติก มีความเป็นกรดต่ำ มีสีน้ำตาลออกดำและ มีสารประกอบอื่นๆ อีกมาก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรอย่างมาก มาย เป็นสารปรับปรุงดิน สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช สารไล่แมลง และสารเร่งการ เติบโตของพืช เกษตรกรสามารถนำไปฉีดพืช ต้นข้าว ได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมได้อีกด้วย



ในขบวนการผลิตน้ำส้มควันไม้สมุนไพรของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงแห่งบ้าน ตระกวน ม.3 ต.พิงพวย อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ เป็นวิธีการกลั่นเอาน้ำส้มควันไม้ซึ่งได้จากการเผาแกลบและพืชสมุนไพร ทำง่าย ใช้เวลาในการเผาถ่านแกลบสั้น ใช้แรงงานเพียงคนเดียว ไม่ต้องใช้คนเฝ้า โดยควบคุมอากาศให้เผาไหม้ได้ตามต้องการ การเผาถ่านเกิดเป็นขี้เถ้าน้อย ถ่านที่ได้มีปริมาณน้ำมันดินทาร์น้อย ได้ปริมาณน้ำส้มควันไม้ในปริมาณที่สูงถึง 80%

**วัสดุ/อุปกรณ์**
1.ถังน้ำมันเก่าขนาด 200 ลิตร

2.แกลบดิบ 2 กระสอบปุ๋ย

3.ตะไคร้หอม 5-10 กิโลกรัม

4.ขวดน้ำพลาสติก 2 ขวด

5.ถังพลาสติกสำหรับเก็บเอาน้ำส้มควันไม้


**ขั้นตอนและวิธีการผลิตน้ำส้มควันไม้**
1.ดัดแปลงถังน้ำมันเก่า 200 ลิตรโดยต่อท่อออกมาด้านนอกความสูงระดับ 90% ของตัวถังเป็นรูปตัวT ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 นิ้ว โดยด้านบนจะเป็นปล่องควันและด้านล่างเป็นบริเวณที่ให้น้ำส้มควันไม้หยดออกมา ส่วนฝาปิดถังก็ต่อท่อออกมาเช่นกันความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร จากนั้นเจาะรูด้วนสว่านข้างถังทั้ง 3 ด้านเส้นผ่าศูนย์กลาง ¾ นิ้ว(3หุน) สูงจากพื้นด้านล่างประมาณ 20 เซนติเมตรเพื่อระบายอากาศ

2.ถังขนาด 200 ลิตรจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ56 เซนติเมตร สูง 89 เซนติเมตร จะแบ่งใส่วัตถุดิบออกเป็นชั้นๆ ดังนี้
-ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 3 ใส่แกลบดิบความสูงประมาณ 25 เซนติเมตร
-ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 4 ใส่ตะไคร้หอมความสูงประมาณ 5 เซนติเมตร
-ชั้นที่ 5 เป็นชั้นสุดท้ายให้เทแกลบดิบใส่ลงไปในถังให้เต็ม

3.จุดไฟเผาแกลบและปิดฝาถังโดยปล่อยให้ควันลอยออกมาทางปล่องควันที่ต่อออกมา ประมาณ 1 ชั่วโมง สังเกตลักษณะของควันที่เผาไหม้ว่าอยู่ในระดับที่จะสามารถกลั่นออกมาเป็นน้ำ ส้มควันไม้ได้หรือไม่โดยสังเกตจากช่วงที่ควันมีสีขาวขุ่น อุณหภูมิปากปล่องระหว่าง 80-150 องศาเซลเซียส เป็นช่วงที่ผลผลิตจะมีคุณภาพดีที่สุด

4.ทำการปิดปากปล่องควันด้านบนโดยใช้ขวดพลาสติกบรรจุน้ำเปล่าปิดรูไว้ทั้ง 2 ปล่อง ควันที่ร้อนภายในเมื่อกระทบความเย็นจะเริ่มควบแน่นประมาณ 10 นาที จากนั่นกลั่นตัวออกมาเป็นหยดน้ำไหลออกมาทางด้านล่างของปล่องควันจะได้น้ำส้ม ควันไม้สมุนไพรบริสุทธิ์โดยใช้เวลาเผาไหม้ทั้งหมด 1 วันกับอีก 1 คืน

5.ปริมาณของวัตถุดิบสามารถผลิตน้ำส้มควันไม้ได้ 15 ลิตร ใช้ผ้าขาวบางกรองเอาเฉพาะน้ำส้มควันไม้เก็บไว้ใช้งานต่อไปได้

**การนำไปใช้งาน**
1.ด้านการเกษตร

-การป้องกันโรครากและโคนเน่าจากเชื้อรา โดยผสมน้ำในอัตราส่วน 1:100 ฉีดพ่นลงดินก่อนการปลูกพืช 15 วัน

-เร่งการเจริญเติบโตและกระตุ้นความต้านทานโรค โดยผสมน้ำในอัตราส่วน 1: 200 ราดโคนต้นทุก 7-15 วัน

-การป้องกันศัตรูพืช ขับไล่แมลงทุกชนิดและเชื้อรา โดยผสมน้ำในอัตราส่วน 1: 200 ฉีดพ่นที่ใบทุก 7-15 วัน

-ช่วยในการสังเคราะห์น้ำตาลของพืช(ช่วยให้พืชผักและผลไม้มีรสหวาน) โดยผสมน้ำในอัตราส่วน 1: 500 ฉีดพ่นที่ผลอ่อนหลังติดผลแล้ว 15 วัน และพ่นอีกครั้งก่อนเก็บเกี่ยว 20 วัน

-ป้องกันมดและแมลง โดยผสมน้ำในอัตราส่วน 1:20 หรือเข้มข้น ราดหรือพ่นบริเวณที่มี

-แก้โรคเชื้อราในยางพารา โดยผสมน้ำในอัตราส่วน 1:20 ทาที่หน้ายางพารา

2.ด้านปศุสัตว์และสิ่งแวดล้อม

-ขับไล่เห็บหมัด รักษาโรคเรื้อนของสัตว์ โดยผสมน้ำในอัตราส่วน 1:1 นำไปฉีดพ่นที่ตัวสัตว์สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

-กำจัดกลิ่นและขับไล่แมลงในคอกสัตว์ โดยผสมน้ำในอัตราส่วน 1: 100 ราดพื้นคอกสัตว์ทุก 7 วัน

-กำจัดกลิ่นขยะและป้องกันไม่ให้แมลงวางไข่ โดยผสมน้ำในอัตราส่วน 1:100 ราดหรือพ่นกองขยะ

ข้อควรระวังในการ ใช้น้ำส้มควันไม้
1.ก่อนนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ต้องทิ้งไว้ในที่ร่มเพื่อให้ตกตะกอนอย่างน้อย 3 เดือน
2.เนื่องจากน้ำส้มควันไม้มีความเป็นกรดสูง ระวังอย่าให้เข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้
3.น้ำส้มควันไม้เป็นตัวเร่งปฎิกิริยาของพืช การนำไปใช้ทางการเกษตรจะเป็นตัวเสริมประสิทธิภาพ
ให้กับพืชแต่ไม่สามารถใช้แทนปุ๋ยได้
4.การใช้เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และแมลงในดิน ควรทำก่อนเพาะปลูกอย่างน้อย 10 วัน
5.การนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ต้องผสมน้ำให้เจือจางตามความเหมาะสมที่จะนำไปใช้
6.การฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ เพื่อให้ดอกติดผล ควรพ่นก่อนที่ดอกจะบาน หากฉีดพ่นหลังจากดอกบานแมลงจะไม่เข้ามาผสมเกสร เพราะกลิ่นฉุนของน้ำส้มควันไม้และดอกจะร่วงง่าย


*************************************************************************
ขอบคุณข้อมูลจาก : คุณวุฒิชัย สัตพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่3 บ้านตระกวน ต.พิงพวย อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ รางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง



ที่มา : ศูนย์ทางด่วนข้อมูลทางการเกษตร*1677
สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จ.อุบลราชธานี (IDF3553)


0 Comments

แสดงความคิดเห็น

ช่วยกันออกข้อคิดเห็นติชมด้วยครับ